เบาหวานขึ้นตา อาการแบบไหนที่ไม่ควรมองข้าม

เบาหวานขึ้นตาเป็นโรคแทรกซ้อนที่อันตราย ในบทความนี้จะอธิบายถึงอาการแบบไหนที่ไม่ควรมองข้าม พร้อมวิธีป้องกันเพื่อรักษาการมองเห็นให้นานที่สุด 

เบาหวานขึ้นตา คืออะไร?

เบาหวานขึ้นตา (Diabetic Retinopathy) คือภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวานที่ส่งผลต่อดวงตา หากระดับน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติเป็นเวลานานอาจส่งผลให้ผนังหลอดเลือดฝอยเสื่อมทั่วร่างกาย รวมถึงหลอดเลือดฝอยที่บริเวณจอตา ทำให้หลอดเลือดบริเวณจอประสาทตาได้รับความเสียหาย หากไม่รักษาจะทำให้สูญเสียการมองเห็นได้

อาการของเบาหวานขึ้นตา 

อาการเบาหวานขึ้นตาระยะแรกอาจไม่แสดงอาการใด ๆ ไม่ส่งผลต่อการมองเห็น ทำให้ผู้ป่วยมักมองข้ามความสำคัญของการตรวจตา บางรายอาจไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ แม้จะอยู่ในระยะรุนแรงแล้วก็ตาม ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรเข้ารับการตรวจตาตามแพทย์แนะนำ รวมถึงสังเกตอาการดังต่อไปนี้

หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบพบแพทย์ 
• มองเห็นจุด หรือเส้นสีดำ ลอยอยู่ในสายตา 
• มองเห็นภาพซ้อน หรือบิดเบี้ยว 
• การมองเห็นแย่ลง 
• แยกแยะสีได้ยากขึ้น 
• เห็นภาพมืด หรือว่างเปล่าเป็นบางจุด 
• ตามัวลง จนสูญเสียการมองเห็น

ระยะของเบาหวานขึ้นตา 

เบาหวานขึ้นตาสามารถแบ่งได้ 2 ระยะ ตามความรุนแรงของโรค ได้แก่

1. เบาหวานขึ้นตาในระยะแรก หรือที่เรียกว่า Non-proliferative Diabetic Retinopathy (NPDR) มักไม่ก่อให้เกิดอาการผิดปกติใด ๆ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงไม่รู้ตัวว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น ภายในจอประสาทตาจะพบการอ่อนแอของผนังหลอดเลือด ทำให้เกิดตุ่มโป่งเล็ก ๆ ยื่นออกมาจากหลอดเลือด บางครั้งอาจมีการรั่วของเลือดหรือของเหลวเข้าสู่จอประสาทตา เส้นเลือดบางเส้นขยายใหญ่ขึ้นและมีรูปร่างไม่สม่ำเสมอ หากของเหลวสะสมบริเวณศูนย์กลางของจอประสาทตา อาจเกิดอาการบวมหรือขาดเลือด ส่งผลให้การมองเห็นแย่ลง จำเป็นต้องได้รับการรักษาเพื่อป้องกันการสูญเสียการมองเห็นถาวรในอนาคต 

2. เบาหวานขึ้นตาระยะรุนแรง หรือระยะที่มีการสร้างหลอดเลือดใหม่ (Proliferative Diabetic Retinopathy: PDR) เป็นภาวะที่จอประสาทตาได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากโรคเบาหวาน เส้นเลือดเดิมที่เสียหายจะถูกปิดกั้น ส่งผลให้ร่างกายกระตุ้นการสร้างเส้นเลือดใหม่ขึ้นบนจอประสาทตา แต่เส้นเลือดใหม่นี้มีความบอบบาง แตกง่าย และสามารถรั่วไหลเข้าไปในวุ้นตาได้ ความผิดปกตินี้อาจนำไปสู่ภาวะจอตาลอก (Retinal Detachment) ทำให้การมองเห็นแย่ลงอย่างมาก นอกจากนี้ หากหลอดเลือดใหม่ไปขัดขวางการไหลเวียนของน้ำในลูกตา อาจทำให้ความดันในลูกตาสูงขึ้นจนเกิดความเสียหายต่อเส้นประสาทตา และพัฒนาเป็นโรคต้อหินได้

ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้ในเบาหวานขึ้นตา

• เลือดออกในวุ้นตา ทำให้มองเห็นเป็นจุดสีดำลอยไปมา แต่หากมีเลือดซึมออกมาในปริมาณมากอาจบังการมองเห็นทั้งหมดได้ โดยปกติร่างกายจะใช้เวลาในการกำจัดเลือดออกจากวุ้นตาประมาณ 2-3 สัปดาห์ หรือไม่กี่เดือน ทำให้กลับมามองเห็นได้อย่างชัดเจน 

• จอตาลอก เป็นผลมาจากแผลเป็นที่เกิดขึ้นนั้นดึงจอตาให้หลุดลอกออกจากด้านหลังของดวงตา ซึ่งอาจทำให้เกิดจุดดำลอยไปมาในเวลามองสิ่งต่าง ๆ มองเห็นแสงวาบ หรือสูญเสียการมองเห็นขั้นรุนแรง 

• ต้อหิน เป็นผลมาจากกลุ่มเส้นเลือดใหม่ไปแทรกแซงการระบายน้ำออกจากลูกตา ส่งผลให้ความดันตาสูงขึ้น เกิดความเสียหายต่อเส้นประสาทที่ทำหน้าที่ส่งภาพจากดวงตาไปยังสมอง 

• สูญเสียการมองเห็น

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้อาการแย่ลง

ปัจจัยดังต่อไปนี้อาจทำให้อาการเบาหวานขึ้นตาแย่ลงได้ เช่น 
• การป่วยเป็นโรคเบาหวานเป็นระยะเวลานาน 
• ปล่อยให้น้ำตาลในเลือดสูง 
• ความดันโลหิตสูง 
• Cholesterol ในร่างกายสูง 
• ตั้งครรภ์ 
• สูบบุหรี่ 

การตรวจและการวินิจฉัย

ทันทีที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวาน ควรตรวจคัดกรองเบาหวานขึ้นจอตาอย่างละเอียดอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ถึงแม้ผู้ป่วยจะไม่มีอาการผิดปกติทางการมองเห็นเลยก็ตาม เพราะเบาหวานขึ้นตาอาจไม่แสดงอาการผิดปกติที่เด่นชัดได้ในระยะแรก กว่าจะรู้ตัวว่าเป็นเบาหวานขึ้นตา อาการของโรคอาจรุนแรงมากแล้ว กรณีที่ตรวจพบอาการเบาหวานขึ้นตาแพทย์อาจพิจารณาให้ทำการรักษา หรือนัดตรวจตาถี่ขึ้นทั้งนี้ขึ้นกับระยะของเบาหวานขึ้นตา และความรุนแรงของโรค

สำหรับการตรวจคัดกรองเบาหวานขึ้นตา จะมีการหยอดยาขยายม่านตาให้แก่ผู้ป่วยเพื่อให้ม่านตาขยายตัว เมื่อม่านตาขยายออกเต็มที่แล้ว จักษุแพทย์จะทำการส่องกล้องเพื่อตรวจหาความผิดปกติของจอประสาทตา ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานที่ให้ผลการตรวจที่ละเอียด และแม่นยำที่สุด

 
 
วิธีป้องกัน และการดูแลรักษา

การป้องกัน และลดความเสี่ยงโรคแทรกซ้อนจากเบาหวาน มีดังนี้ 
• เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดอาหารที่มีรสเค็ม หวาน และไขมันสูง 
• ลดการสูบบุหรี่ และลดการดื่มแอลกอฮอล์ 
• ออกกำลังกายเป็นประจำ ควบคุมน้ำหนัก 
• รับประทานยารักษาโรคเบาหวานตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด 
• ควบคุมระดับความดันโลหิต น้ำตาล และไขมันในเลือด ให้อยู่ในระดับปกติ 
• ควรพบจักษุแพทย์เป็นประจำทุกปีเพื่อเข้ารับการตรวจตาแม้จะยังไม่มีปัญหาการมองเห็น แต่หากมีความผิดปกติทางการมองเห็นควรไปพบแพทย์ทันที 

การรักษาเบาหวานขึ้นตา 

ในกรณีที่ตรวจพบอาการเบาหวานขึ้นตาในระยะแรก แพทย์อาจให้ควบคุมระดับน้ำตาลก่อน รวมถึงดูแลโรคประจำตัวอื่นอย่างเหมาะสม เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคไต เพื่อชะรอความรุนแรงของโรค แต่ในกรณีที่มีอาการเพิ่มมากขึ้น สามารถรักษาได้ด้วยวิธีดังนี้ 

1. การรักษาเบาหวานขึ้นตาด้วยเลเซอร์ 
การรักษามาตรฐานสำหรับผู้ป่วยเบาหวานขึ้นตาระยะที่มีการสร้างหลอดเลือดใหม่ หรือผู้ที่มีจุดภาพชัดบวม คือการใช้เลเซอร์รักษา ซึ่งเลเซอร์จะช่วยให้หลอดเลือดใหม่ที่ผิดปกติฝ่อลง ลดอาการบวมของจอประสาทตา ป้องกันการเกิดเลือดออกภายในตา และชะลอการสูญเสียการมองเห็น หรือการตาบอดได้

2. รักษาเบาหวานขึ้นตาด้วยยา 
การรักษาด้วยการฉีดยาเข้าวุ้นตา เป็นวิธีที่ใช้ยาเพื่อลดการรั่วของหลอดเลือด และช่วยให้หลอดเลือดใหม่ฝ่อลง วิธีนี้ให้ผลการรักษาที่ดี แต่ฤทธิ์ของยาอาจอยู่ได้ไม่นาน และอาจมีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน เช่น การอักเสบ หรือมีเลือดออกภายในวุ้นตา 

3. การรักษาเบาหวานขึ้นตาด้วยการผ่าตัด 
ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง มีเลือดออกในตาจำนวนมาก จนดึงรั้งพังผืดของจอประสาทตา การผ่าตัดวุ้นตาจะช่วยป้องกันไม่ให้อาการทรุดหนัก หรือลุกลามเพิ่มเติม อีกทั้งยังช่วยซ่อมแซมจอประสาทตาที่ลอกให้กลับเข้าที่ ลดความเสี่ยงต่อการสูญเสียการมองเห็นถาวร อย่างไรก็ตาม การมองเห็นหลังผ่าตัดอาจไม่กลับมาเป็นปกติ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคในแต่ละบุคคล     

อาการเบาหวานขึ้นตาเป็นโรคแทรกซ้อนที่อันตราย และไม่ควรถูกละเลย ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานควรได้รับการตรวจตาเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ถึงแม้จะยังไม่มีอาการเบาหวานขึ้นตาแสดงให้เห็นก็ตาม เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อาจนำไปสู่โรคแทรกซ้อนเช่น เลือดออกในวุ้นตา จอตาลอก ต้อหิน หรือตาบอดได้ 

เขียนบทความโดย ภญ.ฐิตาภา ภาษานนท์

.........................................................................

อ้างอิง 
1.คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล. ภาวะเบาหวานขึ้นตา อันตรายที่ป้องกันได้ [อินเทอร์เน็ต]. กรุงเทพฯ: คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี; [สืบค้นเมื่อ 5 พ.ค. 2025]. เข้าถึงได้จาก: https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/ภาวะเบาหวานขึ้นตา-อันตร/ 
2.โรงพยาบาลสมิติเวช. เบาหวานขึ้นจอประสาทตา (Diabetic Retinopathy) [อินเทอร์เน็ต]. กรุงเทพฯ: โรงพยาบาลสมิติเวช; [สืบค้นเมื่อ 5 พ.ค. 2025]. เข้าถึงได้จาก: https://www.samitivejhospitals.com/th/article/detail/diabetic-retinopathy 
3.โรงพยาบาลพญาไท 3. เบาหวานขึ้นจอประสาทตา (Diabetic Retinopathy) [อินเทอร์เน็ต]. กรุงเทพฯ: โรงพยาบาลพญาไท 3; [สืบค้นเมื่อ 5 พ.ค. 2025]. เข้าถึงได้จาก: https://phyathai3hospital.com/th/diabetic-retinopathy/ 
4.โรงพยาบาลพญาไท. ตาบอดและเบาหวานขึ้นจอประสาทตา [อินเทอร์เน็ต]. กรุงเทพฯ: โรงพยาบาลพญาไท;  [สืบค้นเมื่อ 5 พ.ค. 2025]. เข้าถึงได้จาก: https://www.phyathai.com/th/article/3137-blindness_and_diabetic_retinopathybranchpyt1 
5. Mayo Clinic. Diabetic retinopathy: symptoms and causes [Internet]. Rochester: Mayo Clinic; [no date] [cited 2025 May 5]. Available from: https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/diabetic-retinopathy/symptoms-causes/syc-20371611 
6.โรงพยาบาลวิมุต. เบาหวานขึ้นจอประสาทตา: อาการและสาเหตุ [อินเทอร์เน็ต]. กรุงเทพฯ: โรงพยาบาลวิมุต; [ไม่ทราบปีที่เผยแพร่] [สืบค้นเมื่อ 5 พ.ค. 2025]. เข้าถึงได้จาก: https://www.vimut.com/article/diabetic-retinopathy-symptoms-causes 
7.โรงพยาบาลเปาโล. เบาหวานขึ้นตา ป้องกันรักษาก่อนไปถึงตาบอดด้วยการตรวจสุขภาพตา [อินเทอร์เน็ต]. กรุงเทพฯ: โรงพยาบาลเปาโล; [ไม่ทราบปีที่เผยแพร่] [สืบค้นเมื่อ 5 พ.ค. 2025]. เข้าถึงได้จาก: https://www.paolohospital.com/th-th/samut/Article/Details/เบาหวานขึ้นตา-ป้องกันรักษาก่อนไปถึงตาบอดด้วยการตรวจสุขภาพตา
 

สินค้าแนะนำ