เมื่อพูดถึง "เบาหวาน" หลายคนมักนึกถึงผู้สูงอายุเป็นหลัก แต่ในความเป็นจริง วัยรุ่น วัยทำงาน หรือแม้แต่เด็กเล็กก็สามารถเป็นโรคเบาหวานได้เช่นกัน โดยเฉพาะในยุคที่การใช้ชีวิตเต็มไปด้วยความเร่งรีบ เครียด ขาดการออกกำลังกาย และพฤติกรรมการกินที่เสี่ยงต่อสุขภาพ
เบาหวานแต่ละชนิด ใครเสี่ยงบ้าง?
โดยทั่วไป โรคเบาหวานแบ่งออกเป็น 4 ชนิดหลัก ซึ่งพบได้ในคนทุกเพศทุกวัย ไม่ใช่แค่ผู้สูงอายุ
เบาหวานชนิดที่ 1 มักเกิดในวัยเด็กหรือวัยรุ่น
• มักเกิดในผู้มีอายุน้อย โดยเฉพาะช่วงวัยเด็กไปจนถึงกลุ่มคนที่อายุไม่เกิน 30 ปี
• เกิดจากภูมิคุ้มกันทำลายเซลล์สร้างอินซูลินในตับอ่อน
• ต้องฉีดอินซูลินตลอดชีวิต
เบาหวานชนิดที่ 2 เคยพบบ่อยในผู้สูงอายุ แต่ปัจจุบันพบมากขึ้นในวัยทำงานและวัยรุ่น
• แม้ว่ามักจะพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี แต่ก็สามารถเกิดขึ้นกับคนวัยทำงาน หรืออายุน้อยกว่านั้นได้เช่นกัน
• เกิดจากภาวะดื้อต่ออินซูลิน มักสัมพันธ์กับ น้ำหนักเกิน ขาดการออกกำลังกาย และพฤติกรรมการกิน
เบาหวานขณะตั้งครรภ์
• พบในหญิงตั้งครรภ์ช่วงอายุครรภ์ประมาณ 24–28 สัปดาห์
• หากควบคุมไม่ดี อาจกระทบสุขภาพแม่ และลูก
• แม้ส่วนใหญ่จะหายไปหลังคลอด แต่ก็เพิ่มความเสี่ยงที่มารดาจะเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ในอนาคต
เบาหวานชนิดอื่น ๆ
• เกิดจากโรคทางพันธุกรรม โรคของตับอ่อน หรือการใช้ยาบางชนิด
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลจากสมาพันธ์เบาหวานนานาชาติในปี 2562 ที่พบผู้ป่วยเบาหวานทั่วโลกถึง 463 ล้านคน และในไทยพบผู้ป่วยอายุ 20-79 ปี มากกว่า 4.8 ล้านคน ซึ่งตัวเลขนี้แสดงให้เห็นว่าโรคเบาหวานเป็นปัญหาในวงกว้าง ไม่จำกัดเฉพาะผู้สูงอายุ (https://www.bdmswellness.com/knowledge/risk-for-diabetes)
กลุ่มวัยรุ่น และวัยทำงานเสี่ยงเบาหวานเพราะอะไร?
1. พฤติกรรมการกินที่ไม่เหมาะสม
หลายคนในวัยรุ่นและวัยทำงานนิยมรับประทานอาหารจานด่วน หรือฟาสต์ฟู้ดเป็นประจำ เช่น ไก่ทอด เบอร์เกอร์ น้ำอัดลม และขนมหวานต่าง ๆ ซึ่งมักมีปริมาณไขมันอิ่มตัว น้ำตาล และโซเดียมสูง อาหารเหล่านี้นอกจากให้พลังงานเกินความจำเป็นแล้ว ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะอ้วน ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของเบาหวานชนิดที่ 2
2. ขาดการเคลื่อนไหวหรือออกกำลังกาย
การนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ เรียนออนไลน์ หรือใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการนั่งอยู่กับที่โดยไม่ขยับร่างกาย ทำให้ระบบเผาผลาญทำงานช้าลง และเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลินได้ง่าย ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น
3. ความเครียดสะสมและการพักผ่อนไม่เพียงพอ
ชีวิตที่เร่งรีบ การทำงานภายใต้แรงกดดัน และการนอนหลับไม่เพียงพอ ส่งผลต่อระบบฮอร์โมนในร่างกาย เช่น การหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลที่มากขึ้นในช่วงเครียด ซึ่งอาจไปรบกวนการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานในระยะยาว
4. ใช้ชีวิตติดหน้าจอ
ไลฟ์สไตล์ของคนยุคดิจิทัลที่ใช้เวลาหลายชั่วโมงอยู่กับหน้าจอ ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน เล่นโซเชียลมีเดีย หรือดูซีรีส์ มักทำให้ไม่มีเวลาออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่มีผลโดยตรงต่อระบบเผาผลาญน้ำตาลของร่างกาย
5. พันธุกรรม และประวัติครอบครัว
หากมีพ่อแม่ หรือญาติสายตรงที่เป็นโรคเบาหวาน จะเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคนี้มากขึ้น แม้จะไม่มีอาการในช่วงวัยรุ่น หรือวัยทำงานก็ตาม หากไม่มีการดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสม ความเสี่ยงนั้นจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น
ป้องกันเบาหวานได้อย่างไร?
• เลือกกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ผัก ผลไม้สด ธัญพืชเต็มเมล็ด
• ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สัปดาห์ละ 3–5 วัน
• ลดความเครียด นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
• ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำ โดยเฉพาะถ้ามีปัจจัยเสี่ยง
• ปรึกษาแพทย์ เมื่อตรวจพบความผิดปกติหรือมีอาการน่าสงสัย
แม้อายุยังน้อย ถ้าไม่ดูแลสุขภาพ ก็มีโอกาส “เป็นเบาหวานก่อนวัย” ได้เช่นกัน
เบาหวานไม่ใช่แค่เรื่องของ “ผู้สูงอายุ” อีกต่อไป หากคุณอายุยังน้อย แต่ใช้ชีวิตเสี่ยง ก็อาจเป็นเบาหวานได้ไม่ต่างกัน รู้เร็ว ปรับเร็ว ป้องกันโรคเรื้อรังได้ก่อนสาย